นับว่าเป็นภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2015 เลยทีเดียว สำหรับเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 7.8 แมกนิจูด ที่ศูนย์กลางอยู่ระหว่างกาฐมาณฑุกับเมืองโพคารา ซึ่งล่าสุด ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 3 พันรายแล้ว ซึ่งถึงวันนี้ ก็ยังมีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกอย่างต่อเนื่อง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา 2 ท่าน คือ
รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ นักธรณีฟิสิกส์และหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เหตุใด แผ่นดินไหวใหญ่ ที่เนปาล จึงห่างกันกว่า 80 ปี
รศ.ดร.วีระชัย กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่ตอบยากมาก ว่าทำไมเกิดตอนนี้ ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง รอยเลื่อนจะต้องทำการสะสมพลังงาน เมื่อพลังงานที่สะสมมากพอ มันก็จะปลดปล่อยออกมาในรูปของ "แผ่นดินไหว" โดยเวลาของการสะสมพลังงานนั้นไม่แน่ไม่นอน ไม่มีใครคาดเดาได้
หากมีการปลดปล่อยพลังงาน และเกิดอาฟเตอร์ช็อกไปแล้ว การสะสมพลังงานก็จะกลับมาเหมือนเดิม ค่อยๆ สะสมพลังงานใหม่ การสะสมพลังงานใหม่นั้น จะใช้เวลาเท่าเดิมหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ ตอบไม่ได้
อาฟเตอร์ช็อกจะเกิดอีกนานแค่ไหน
การเกิดอาฟเตอร์ช็อกส่วนใหญ่ จะมีขนาดความรุนแรงลดลง ซึ่งกรณีเนปาลได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ซึ่งอาฟเตอร์ช็อกครั้งใหญ่สุดถึงขณะนี้คือขนาด 6.7 แต่โดยปกติแล้ว การเกิดอาฟเตอร์ช็อกไม่รุนแรงมาก ขนาด 3-4 ก็เกิดอยู่บ่อยครั้งอยู่แล้ว แต่ความเสียหายน้อย ก็เลยไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อาจจะทำให้มีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเป็นเดือนถึง เป็นปี 5 เดือนนับจากนี้ไปก็อาจจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกอยู่ แต่อาจจะนานๆ มาครั้งก็เป็นได้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจาก ม.มหิดล
กล่าวต่อว่า โลกของเราแบ่งเป็นแผ่นเปลือกโลก ซึ่งแผ่นเปลือกโลกมีหลายแผ่น
บางแผ่นขนาดใหญ่มาก บางแผ่นมีขนาดเล็กมาก
บริเวณที่มีแนวโน้มที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่
มักจะอยู่แนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้
ซึ่งมันจะมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างเปลือกโลก 2 แผ่น มีได้ 3 ประเภท
1.แยกห่างออกจากกัน จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก มากที่สุดก็จะขนาด 6 แมกนิจูด
2.สไลด์ไถผ่านกันไป มากที่สุด คือขนาด 7 แมกนิจูด
3.แผ่น เปลือกโลกที่ชนกัน ก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ซึ่งครั้งใหญ่สุดของโลกคือ ขนาด 9.5 แมกนิจูด เกิดขึ้นที่ประเทศชิลี เมื่อนานแล้ว
อย่างไรก็ดี การชนกันของแผ่นเปลือกโลกนั้นยังแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
1.แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรชนแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร แบบที่ 2
แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร ชนเปลือกโลกทวีป และ
3.แผ่นเปลือกโลกทวีปชนแผ่นเปลือกโลกทวีป2.สไลด์ไถผ่านกันไป มากที่สุด คือขนาด 7 แมกนิจูด
3.แผ่น เปลือกโลกที่ชนกัน ก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ซึ่งครั้งใหญ่สุดของโลกคือ ขนาด 9.5 แมกนิจูด เกิดขึ้นที่ประเทศชิลี เมื่อนานแล้ว
"แต่กรณีที่เนปาล เป็นแผ่นเปลือกโลกทวีปชนกับแผ่นเปลือกโลกทวีป ซึ่งก็คือแผ่นเปลือกโลกทวีปอินเดียพุ่งเข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ที่เรียกว่ายูเรเชีย เพราะว่าครอบคลุมทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย" รศ.ดร.วีระชัย กล่าว
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนอะไรต่อมนุษย์หรือไม่
โลกเราเกิดแผ่นดินไหวเป็นประจำอยู่แล้ว การเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7.8 ก็เกิดขึ้นอยู่ประจำ แต่สำหรับเนปาล ที่มีความสูญเสียเยอะ เพราะจุดที่เกิดอยู่ในบริเวณบ้านเรือนประชาชน มีคนอาศัยอยู่มาก กลับกันหากเกิดในพื้นที่ทะเลทราย หรือไร้ผู้คน ก็จะไม่มีคนบาดเจ็บล้มตาย หรือถ้ามีก็ไม่มากอย่างนี้
การเกิดแผ่นดินไหว จะเกิดตรงที่มีรอยเลื่อน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหลายที่ ในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ไล่ตั้งแต่เชียงราย แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ลงไปถึงทางใต้
รู้ล่วงหน้าเป็นไปได้หรือไม่..?
เป็นไปไม่ได้ เรายังทำนายตัวเราว่าจะเป็นมะเร็งเมื่อไร ยังไม่ได้เลย ดังนั้น เราทำนายไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อไร แต่เราพอบอกได้ว่าบริเวณตรงไหนมีแนวโน้มว่าจะเกิดแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นเอง รู้อยู่แล้วว่าประเทศเขามีความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหว เขาก็เลือกที่จะอยู่กับมัน ด้วยการสร้างสิ่งก่อสร้างที่สามารถรับแรงแผ่นดินไหว มีการสอนประชาชนให้รับมือ แต่จะรู้ล่วงหน้าแล้วอพยพก่อน เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้
โอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ กทม.!?
ไทยโดนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุด ก็ปีที่แล้ว คือ ขนาด 6.3 แมกนิจูด ถามว่าแผ่นดินไหวใหญ่กว่านี้เป็นไปได้หรือไม่ คำตอบคือเป็นไปได้ แต่โดยตามสถิติ ถ้าเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ภายในแผ่นเปลือกโลก ที่ไม่ใช่รอยต่อ เช่นในประเทศไทย แผ่นดินไหวขนาดเกิน 7.0 ถือว่ายากมาก ถ้าเป็นขนาด 6.0 ก็เป็นไปได้แต่โอกาสเกิดก็ยังต่ำ
"ในอนาคตก็น่าจะเกิดแน่นอน แต่เมื่อไรนั้น ไม่มีใครตอบได้ เราอาจจะตายไปแล้วหลายรุ่นก็เป็นไปได้ เพราะเวลาในทางธรณีวิทยา เป็นเวลาที่ยาวนาน ช่วงชีวิตของมนุษย์ เป็นเสี้ยวเล็กๆ ในทางธรณีวิทยา"
ประเทศไทยมีหลายรอยเลื่อน หากเกิดจริงโอกาสที่กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบก็มี คือ เกิดที่รอยเลื่อน จ.กาญจนบุรี ซึ่งก็เคยเกิดมาแล้ว ขนาด 5.9 แมกนิจูด ที่เขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อประมาณปี 2526 อย่างไรก็ดี ได้มีนักธรณีวิทยาบางคน ก็บอกว่ากรุงเทพฯ มีรอยเลื่อน แต่บางคนก็บอกว่าไม่มี ซึ่งตอนนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ และยังไม่สามารถตอบได้ว่ารอยเลื่อนในกรุงเทพฯ ยังมีพลังอยู่หรือไม่
จากเนปาลถึงไทย ผลกระทบที่ได้รับคือ...
ไม่มีผลกระทบ แต่สำหรับคลื่นแผ่นดินไหว มี 2 ชนิด คือ คลื่นภายใน (Body Wave) เคลื่อนที่ไปได้ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น เกิดที่เนปาล เครื่องมือวัดคลื่นแผ่นดินไหวที่สหรัฐฯ ก็รู้สึกสั่นได้ ส่วนอีกแบบคือ คลื่นพื้นผิว (surface wave) จะเคลื่อนที่เฉพาะพื้นผิว ซึ่งตัวที่ทำลายล้างก็คือคลื่นตัวนี้ โดยจะเคลื่อนที่ด้วยคลื่นขนาดใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง ถ้าห่างไป 500 กม. ก็อาจจะหายไปหมดแล้ว ซึ่งคลื่นตัวนี้มาถึงเมืองไทยด้วย แต่เราอาจจะไม่รู้สึก เพราะจะมีขนาดต่ำมาก เฉพาะเครื่องมือเท่านั้นที่วัดได้
แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งก็เกิดปกติอยู่แล้ว ส่วนที่เรารู้สึกว่าแผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้น เพราะเราเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เครื่องวัดแผ่นดินไหวก็ทันสมัยขึ้น แต่สิ่งที่เรารู้สึกแตกต่างเพราะ คน สิ่งก่อสร้าง ในสมัยก่อนน้อยกว่านี้ จึงไม่ค่อยรู้สึกถึงความเสียหาย
ตอนนี้ได้มีการวิจัยกันอยู่ว่า แผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้นหรือไม่ แต่เท่าที่ดูจากสถิติ ก็ดูปกติ เพราะไม่แตกต่างจากในอดีตเลย แผ่นดินไหวทั้งโลกมีเป็นล้านครั้ง แต่เกิดขนาดใหญ่ เช่น 7-8 ก็จะมี 10 ครั้ง ขนาดเกิน 8 แมกนิจูด ก็มี 1-2 ครั้งต่อปี ก็ยังเป็นลักษณะนี้อยู่
"สิ่งที่อยากฝากคือ ประเทศไทยก็เคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว ขอให้ประชาชนอย่าตระหนก ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับแผ่นดินไหว ด้วยการทำความเข้าใจและป้องกัน เตรียมพร้อมก่อนที่จะเกิด เช่น การสร้างบ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้าง ให้มั่นคง เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่เนปาลมากมาย เพราะบ้านเรือนไม่แข็งแรง ขณะเดียวกัน หากเกิดแผ่นดินไหวในขนาดที่เท่ากันเกิดที่ญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิต 2-3 คนก็นับว่ามากแล้ว ดังนั้น ไม่ควรมองเรื่องแผ่นดินไหวเป็นเรื่องไกลตัว" รศ.ดร.วีระชัย กล่าวทิ้งท้าย
ดึงสติคนไทย ไม่ประมาทภัยแผ่นดินไหว
ด้าน ผศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า สำหรับโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยนั้น โอกาสเกิดมีแน่ แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดที่ไหน เมื่อไร เพราะเรื่องแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่พยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่ส่วนสำคัญคือ ข้อมูลที่มี ณ ขณะนี้เกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหวในประเทศไทย ยังมีไม่มาก และคลุมเครือ ซึ่งแตกต่างจากญี่ปุ่น ที่เขาเจอหนักๆ มาบ่อยครั้ง และมีข้อมูลมากมาย นอกจากนี้ คนไทยเองที่ศึกษาเรื่องนี้ก็มีน้อย 10-20 คน จัดสัมมนากันทีไรก็เจอแต่หน้าเก่าๆ
ผศ.ดร.สันติ กล่าวต่อว่า ประเทศญี่ปุ่น เขาใช้วันที่เขาเจอภัยพิบัติหนักๆ ซ้อมภัยแผ่นดินไหว ประเทศไทยเองก็ควรจะมีการซ้อมรับมือด้วย เพราะภัยพิบัติแบบนี้สักวันก็ต้องเกิด โดยจากที่ศึกษาข้อมูลคาดว่า หากเกิดจะหนักที่สุดประมาณ 6-7 แมกนิจูด
Cr : Thairath
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น