วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ถึงเวลา ประกาศ มาตรการประหยัดน้ำหรือยัง?



 ถึงเวลา ประกาศ มาตรการประหยัดน้ำหรือยัง?

หลายคนสงสัยปนไม่อยากจะเชื่อว่า ปัญหาภัยแล้งปี นี้จะรุนแรงขนาด ทำให้จังหวัดปริมณฑลอย่าง จ.ปทุมธานี ในบางพื้นที่ อ.ธัญบุรี จะขาดแคลนน้ำถึงขั้นไม่มีน้ำดิบมาทำน้ำประปาจ่ายให้กับครัวเรือนได้ ก่อนที่ทางการจะเร่งแก้ปัญหาจนสามารถผลิตน้ำมาส่งให้กับครัวเรือนได้อีก ครั้ง
ใครจะคิดว่า พื้นที่ปทุมธานี ในย่านรังสิตถึงธัญบุรี ที่มีคูคลองส่งน้ำจำนวนมากมาย เป็นพื้นที่เกษตรสำคัญ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้วางระบบชลประทานไว้ให้ มีการขุดคลองจำนวนมากจะขาดแคลนน้ำได้ การขาดแคลนน้ำของธัญบุรี จึงไม่ใช่เรื่องปรกติธรรมดา อย่างแน่นอน

ปัญหาภัยแล้งที่คุกคามหนักในปีนี้ มีหลายคนบอกว่าหนักหน่วงที่สุดในรอบ 100 ปี อ่างเก็บน้ำจากเขื่อนต่างๆ มีน้ำเหลืออยู่น้อยมาก หากไม่มีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มจะยิ่งวิกฤตหนักกว่าเดิม แม้ในช่วงนี้ทางการได้เร่งทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณฝนแต่ก็ดูเหมือนได้ผลไม่ มากนัก และในเขตอีสานจะมีฝนตกลงมามากในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่เรายังไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า ปริมาณฝนยังจะมีเข้ามามากเพียงพอ และไม่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงขึ้นอีกหรือไม่

มีข้อมูลจากนักวิชาการคนสำคัญอย่าง นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ว่า "สถานการณ์ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มาจากอิทธิพลเอลนินโญ และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้ภัยแล้งจากคลื่นความร้อนรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งอินเดีย ปากีสถาน ผู้คนตายไปหลายร้อยคน รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งตามการพยากรณ์อากาศของทั่วโลกประเมินว่าถ้าโลกเผชิญภาวะโลกร้อนไปอีก 8 ปี

จะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้น 400-500 เท่า จะเกิดน้ำท่วมโลก จากน้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้ละลาย ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นจนท่วมเมืองที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เช่น กรุงเทพฯ น้ำจะท่วมสูง 4-5 เมตร เวียดนาม เซียงไฮ้ ท่วมหนักสุดจะมีคนตายเป็นพัน ๆ คน"

สำหรับประเทศไทยปีนี้ภัยแล้งอยู่นานไปถึงปลายปี ตอนนี้ธรรมชาติส่อเค้าให้เห็นแล้วจากการมีพายุคลื่นลมแรงในทะเลจีนใต้ พัดร่องฝนขึ้นไปประเทศจีนหมด ไม่กลับลงมาภาคเหนือและภาคกลางของไทย ฝนเทียมก็ทำได้น้อย เพราะสภาพอากาศแห้งแล้งมาก

นายสมิทธ ยังย้ำอีกว่า "ประเทศไทยมีฝนจะตกได้จากอิทธิพลร่องฝน และพายุ หากเดือนนี้ และเดือนหน้า ไม่มีสองปัจจัยนี้ ประเทศไทยจบแน่ เกิดวิกฤติเลวร้ายที่สุด ไม่มีน้ำกิน .............ช่วงอันตรายสุดในเดือน ส.ค.-ก.ย. ไม่มีพายุจรเข้าเลยสักลูก ทุกอย่างวิกฤติของจริง ไม่อยากนึกภาพจะขาดน้ำไปถึงปีหน้า เพราะถ้าเข้าเดือน ต.ค.-พ.ย. ร่องฝนลงใต้ไปแล้ว ไม่ตกภาคเหนือภาคกลาง"

ข้อมูลเหล่านี้น่าสนใจและต้องตระหนัก และเตรียมรับมือกับอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องดูแล บริหารจัดการน้ำใช้น้ำอย่างรู้คุณค่ามากที่สุด ไม่ฟุ่มเฟือย ถึงเวลาที่ต้องประกาศความจริงให้ทุกคนรู้ว่าสถานการณ์น้ำแล้งรุนแรงมากน้อย เพียงใด เพื่อให้คนไทยช่วยกันประหยัดน้ำและเตรียมรับมือได้ในทุกสถานการณ์

ทุกวันนี้ทางการยังมองปรากฏการณ์ภัยแล้ง เป็นปัจจัยตามฤดูกาล และรอความหวังจากฟ้า รอให้ฝนเข้ามาตามฤดูกาล แต่ หากข้อสมมุติฐานของนายสมิทธ เป็นจริง จะรับมืออย่างไร...?
ถึงเวลาหรือยังที่จะประกาศให้ การประหยัดน้ำ เป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งปฏิบัติมากกว่า หวั่นเกรงคนกรุงจะตกใจกลัวหรือยัง....?

Cr  :  Sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น