วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รู้จักและเข้าใจความดันโลหิตของเรา

รู้จักและเข้าใจกับตัวเลข...ความดันโลหิตของเรา 

ต้นตอของโรคร้าย ที่ป้องกันได้ 
เครื่องมือวัดความดันโลหิต 
ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูง นับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่กำลังคุกคาม  โดยในปัจจุบันมีประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเป็น โรคความดันโลหิตสูง และมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคน
 
   สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขคาดว่า จะมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือเป็น โรคความดันโลหิตสูง ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย
 
ดังนั้นเราจึงควรหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับตัวเลขความดันโลหิตของเรากันได้แล้ว เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน  
 
สำหรับการวัดระดับความดันโลหิต
 
โดยความดันโลหิตที่เรียกว่า "เหมาะสม" ในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80มม.ปรอท เรียกสั้น ๆ ว่า 120/80
 
โดยความดันโลหิตที่ "อยู่ในเกณฑ์ปกติ" คือ 120-129/80-84 มม.ปรอท
 
ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท
 
ความดันโลหิตสูง คือ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท
 
สาเหตุและอาการของความดันโลหิตสูง
 
ความดันโลหิตสูงเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารรสเค็ม และส่วนน้อยเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด ไตวาย  
 
ความดันโลหิตสูงได้ชื่อว่าเป็น ฆาตกรเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ทราบว่าตัวเองมีความดันโลหิตสูง หรือแม้จะทราบแต่ละเลยไม่สนใจรักษา เพราะรู้สึกปกติ ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาภายหลัง
 
 สำหรับการรักษา โรคความดันโลหิตสูง มี 2 ทางเลือกด้วยกัน คือ การใช้ยา และไม่ใช้ยา ในผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง ที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็น แพทย์จะสามารถรักษา โรคความดันโลหิตสูง ได้โดยป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย แพทย์จะต้องให้ยาและพยายามควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ 
 
ดังนั้นก่อนจะสายเกินไปเราควรป้องกันต้นตอของโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเพียงแค่ให้ความสำคัญกับอาหารการกิน หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ เพียงเท่านี้ก็จะลดปัจจัยเสี่ยงได้ของภาวะอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้

ที่มา  :  ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านการแพทย์ฉุกเฉินไทย
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น