อยู่ในเมืองใช้ชีวิตนำเทรนด์
ชอบแฟชั่น ไม่ได้รักษ์โลกจ๋า แต่สนใจเทคโนโลยี-ไอเดียรักษ์โลก นี่คือเหล่า
'กรีนฮิปสเตอร์' ที่ไม่ควรมองข้าม
คำยืนยันจาก “ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต” ผู้เป็นทั้ง ดีไซเนอร์ อาจารย์ และหุ้นส่วนแบรนด์ Osisu ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดโลก เขายืนยันความเชื่อนี้อีกครั้ง ระหว่างการบรรยายในงาน "เสือ สิงห์ กระทิง TALK " ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ที่ผ่านมา
เขาคือหนึ่งผู้ประกอบการไทย ที่ส่ง “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” ไป สยายปีกอยู่ในตลาดโลก และมองเห็นสัญญาณแห่งโอกาสนี้ที่แจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากผลการสำรวจครัวเรือนในยุโรป เมื่อปี 2009 พบว่า แต่ละบ้านใช้เงินอยู่ประมาณ 386 ยูโร (ประมาณ 15,000 บาท) เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แต่พอปี 2015 ตัวเลขนี้กลับโตขึ้นเป็นเท่าตัว โดยคาดกันว่า จะอยู่ที่ประมาณ 751 ยูโร ! (ประมาณเกือบ 3 หมื่นบาท)
เวลาเดียวกับผลการศึกษาการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์กรีนในยุโรป ระหว่างปี 2000-2010 ที่พบว่า เพิ่มสูงถึง “400%” จาก 10.3 พันล้านยูโร มาเป็น 56 พันล้านยูโร และคาดว่า
มูลค่านี้จะเพิ่มอีกกว่า 100% ในปี 2015 หรือประมาณ 114 พันล้านยูโร !
เช่นเดียวกับ การสำรวจของ Arthur D. Little ในปี 2011 ที่พบว่า 84% ของผู้บริโภคชาวอิตาเลียน พร้อมใช้เงินมากขึ้นในผลิตภัณฑ์กรีน
ล่าสุดปี 2014 Harris Poll ทำการสำรวจคนที่อายุ 18 ปี ขึ้นไปในอเมริกา พบว่า 75% พร้อมที่จะซื้อสินค้าหรือบริการกรีน เช่นเดียวกับ Nielsen Global Survey ที่สำรวจในปีเดียวกัน โดยเก็บข้อมูลจาก 60 ประเทศ ทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและด้อยพัฒนา พบว่า 55% หรือคน “มากกว่าครึ่งโลก” พร้อมแล้วที่จะซื้อสินค้าที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม
“เส้นทางนี้...สวยงามมาก”
ดร.สิงห์ ย้ำความน่าสนใจ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วโลก แม้แต่ไทยเองก็มีความตื่นตัวเรื่องตลาดสีเขียว โดยปัจจุบันตลาดสินค้าและบริการรักษ์โลกในไทยมีอยู่ประมาณ 10-15% โดยยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่องค์กรต่างๆ ก็หันมาให้ความสนใจในมิติสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สดๆ ร้อนๆ กับการเปิดตัว “บัตรเดียวเขียวทั่วไทย” (Green Card) เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างภาคีเครือข่าย ของกลุ่มผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการ ผู้จำหน่ายสินค้า หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการขับเคลื่อนการผลิตและใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เรื่องกรีนกลายเป็น “จุดขาย” และกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจของหลายแบรนด์ และกำลัง “ทำเงิน” งดงามในสนามนี้
ดู IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์สัญชาติ สวีเดน ที่มุ่งมั่นในการ “Go Green” ประกาศตัวเป็นองค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าทั่วโลก นั่นคือเหตุผลที่ภายในปีเดียวความต้องการในผลิตภัณฑ์รักษ์โลกของ IKEA เพิ่มขึ้นถึง 58% (2014) คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเบาะๆ แค่กว่า 4 หมื่นล้านบาท
แต่จะทำอย่างไรถึงจะมีส่วนร่วมในโอกาสนี้ ง่ายสุดก็ต้องเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้ให้มากขึ้น ผ่านคน 5 กลุ่ม 5 คาแรคเตอร์
1.Resource Conservers
กลุ่มคนรักษ์โลก ที่อยากเก็บรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด คนกลุ่มนี้เกลียดขยะ เพราะเห็นทุกอย่างเป็นทรัพยากร เลยไม่ชอบทิ้งของสุรุ่ยสุร่าย ชอบของรีไซเคิล ไม่ชอบอะไรที่โอเว่อร์แพคเก็จจิ้ง ประเภทห่อแน่นอัดเต็ม ไม่เอา ไม่สน ชอบใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน ใครอยากขายของคนกลุ่มนี้ ต้องนำเสนอเรื่อง ความคุ้มค่า คงทน ประหยัดพลังงานและทรัพยากร สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ยกตัวอย่าง Rocking Chair ผลงานของ Shawn Kim เก้าอี้โยก ที่ผู้ใช้สามารถนั่งโยกไปมาแล้วผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพื่อจุดโคมไฟให้แสงสว่าง สามารถนั่งอ่านหนังสือไปด้วยได้
แบรนด์ Puma ออกแบบกล่องใส่รองเท้าให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เอาใจเหล่าคนรักษ์ทรัพยากร
เก๋สุดต้องยกให้ “Easy Funeral” จากเนเธอร์แลนด์ ที่ออกแบบโลงศพกระดาษ เพื่อประหยัดเงิน ประหยัดทรัพยากรและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในการจัดงานศพ ธุรกิจใหม่ที่กำลังร้อนแรงสุดๆ ในยุโรปและอเมริกา
Piet Hein Eek ที่เอาเศษไม้มาทำเฟอร์นิเจอร์ชิคๆ แม้แต่ผู้ผลิตโคมไฟและของแต่งบ้านจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งมีอยู่มากมายในบ้านเราก็เข้ากับกลุ่มตลาดนี้
“ไม่ใช่แค่องค์กรเล็กๆ แต่องค์กรใหญ่ก็ทำ อย่าง โค้ก เขาทำเก้าอี้จากขวดเครื่องดื่มของตัวเอง ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้สร้างมูลค่าให้โค้กมหาศาล และสร้าง Brand Value สูงมาก จากสิ่งที่เขาทำ ถามว่า ขายได้ไหม ขายได้ ทำรายได้เป็นล่ำเป็นสัน”
2.Health Fanatics
พวกที่รักตัวเองสุดๆ และรักสุขภาพเอามากๆ คนกลุ่มนี้จะชอบผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก เกลียดยาฆ่าแมลง และสารเคมี ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน GMP ฉลากสีเขียว กลัวแดด ชอบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ชอบพลิกดูฉลาก อ่านข้อมูล จะทำของขายคนกลุ่มนี้ ฉลากต้องดีไซน์เหมาะสมและมีข้อมูลชัดเจน เพราะเป็นที่หลงใหลได้ปลื้มของคน กลุ่มนี้
ตัวอย่าง “STRAUS” แบรนด์ นมออร์แกนิก ที่บรรจุในขวดกระดาษ ประกาศตัวเป็นสินค้ารักษ์โลก และรักสุขภาพไปพร้อมกันด้วย ก็โดนใจตลาดกลุ่มนี้
หรือ “LUSH” ผลิตภัณฑ์ความงามที่ทำมาจากผักและผลไม้ ขายความเป็นธรรมชาติขนานแท้ ไม่ใช้สัตว์ในการทดสอบ แต่ใช้อาสาสมัครที่เป็นคนทดแทน ขณะบรรจุภัณฑ์ก็เลือกสีดำ เพราะมองว่า พลาสติกเมื่อรีไซเคิลจุดสุดทางแล้วก็จะเป็นสีดำเท่านั้น คิดรอบด้านเพื่อประกาศการเป็นสินค้ารักษ์โลก
ผลิตภัณฑ์เก๋ๆ อย่าง ชุดจานชาม HALVED dinnerware ที่เอาใจคนรักสุขภาพ ที่ไม่ต้องกังวลกับการทานเยอะ ไม่ต้องลดปริมาณอาหาร แต่พวกเขาช่วยลดขนาดจานแทน ด้วยการทำคอลเลคชั่นหั่นครึ่ง ทั้งจาน ชาม แก้วน้ำ ก็มีขนาดแค่ครึ่งเดียว เปรี้ยวๆ แต่โดนใจ คนกลุ่มนี้
3. Animal Lovers
กลุ่มคนรักสัตว์ คนกลุ่มนี้จะไม่สนับสนุนสินค้าที่มีการทรมานสัตว์ หรือใช้สัตว์ในการทดลอง ในกระบวนการผลิต เป็นกลุ่มที่ชอบทำสวน ปลูกผักกินเอง ไม่เอาถุงพลาสติก ชอบใช้ถุงผ้า ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาตอบสนองมีตั้งแต่เครื่องสำอางที่ประกาศตัวว่า ไม่ใช้สัตว์ในการทดลอง หรือไข่ไก่ที่บอกว่า มาจากการเลี้ยงแบบอิสระ จากแม่ไก่ที่มีความสุข เป็นต้น
อย่าง “Kombucha Dog” ชาหมักเพื่อสุขภาพช่วยน้องหมาไร้บ้าน ผลงานของ Michale Faye อดีตช่างภาพโฆษณา ในสหรัฐ เขาใช้รูปสุนัขที่ไร้เจ้าของจากสถานสงเคราะห์ใน LA ชวนให้คนที่ซื้อชาไปดื่ม ช่วยรับพวกมันไปเลี้ยงด้วย โดยระบุข้อมูลติดต่อไว้ในฉลาก เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มาสนองใจคนรักสัตว์
หรืออย่างบ้านเรา ก็มี “ไข่ไก่อารมณ์ดี” ของอุดมชัยฟาร์ม ที่ชูจุดขายว่า เป็นไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อย ให้อิสระ ได้รับการดูแลด้วยความรัก ไม่ถูกขังอยู่ในคอนโดไก่ แม่ไก่สุขภาพดี ไม่ใช่สารเร่ง เลยได้ไข่ไก่คุณภาพดี
ตัวอย่างไอเดียคูลๆ ที่มัดใจเหล่าคนรักสัตว์ รักษ์โลก
4. Outdoor Enthusiasts
กลุ่มที่ชอบใช้ชีวิตเอ้าท์ดอร์ ต้องการธรรมชาติ คนกลุ่มนี้จะกังวลเรื่องสภาวะโลกร้อน และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นห่วงเรื่องการสูญพันธุ์ของสัตว์ ชอบแคมปิ้ง ปีนเขา เดินป่า และไม่ชอบเห็นขยะบนเส้นทางท่องเที่ยว ชอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นไม้ แต่ต้องมีฉลาก FSC (Forest Stewardship Council) คือ เป็นไม้ที่มาจากป่าปลูกเท่านั้น ไม่ได้สนใจอะไรที่หรูหรามากมาย ชอบของที่ใช้งานจริง ไม่ได้ชอบพวกแฟชั่น หรือตามเทรนด์ และชอบซื้อของจากบริษัทที่ประกาศตัวว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่าง “Care Cone Filters” ที่กรองกาแฟที่ทำจากเยื่อกระดาษซึ่งมาจากป่าปลูก หรือดินสอ Remarkable ที่ชูฉลาก FSC ประกาศตัวชัดว่า ดินสอทุกแท่งผลิตภัณฑ์จากป่าปลูก ไม่ทำลายธรรมชาติ
รองเท้า adidas รุ่น Adidas Green Collection ที่ใช้เส้นใยธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางรีไซเคิล มาออกแบบเป็นรองเท้ารักษ์โลกสุดเท่
ขณะที่ Nike ก็ออก Nike Trash Talk Shoes รองเท้าที่ทำมาจากเศษรองเท้าของรุ่นอื่นๆ ซึ่งก็ขายดิบขายดีมาก
“Levi’s” ออกรุ่น “Water < Less 501’s” กางเกงลีวายส์รุ่นที่ลดการใช้น้ำในกระบวนการฟอกย้อม จากที่ใช้น้ำมากถึง 42 ลิตร ลดมาเหลือน้อยกว่า 1 ลิตร เท่านั้น ทำให้ลีวายส์กลายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนองใจกลุ่มรักษ์โลกขาลุย ที่ชอบท่องเที่ยว ให้เลือกลีวายส์มาใส่เที่ยวมากกว่ารุ่นอื่น
หรือ “Tree Ring Web” กระดาษทิสชู่รักษ์โลก ที่ออกแบบเป็นวงปีของต้นไม้ เพื่อบอกให้คนใช้ตระหนักว่า ทุกครั้งที่ดึงกระดาษทิสชู่ไปใช้ เท่ากับทำลายต้นไม้มากขึ้น ซึ่งไอเดียใหม่ ไม่ได้ทำให้ต้นทุนกระดาษเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับทำให้ขายได้แพงขึ้น และได้รับความสนใจจากคนรักษ์โลกมากขึ้นด้วย
4 สายพันธุ์แรก เป็นการแบ่งโดย Jacquelyn Ottman (2010) ขณะที่ ดร.สิงห์ แนะนำกลุ่มสุดท้าย ซึ่งย้ำว่า เป็นเทรนด์ร้อนของตลาดสีเขียววันนี้
นั่นคือ Green Hipsters
หรือ กลุ่มคนที่อยู่ในเมือง ไม่ได้ดูรักษ์โลกจ๋า แต่ยังชอบตามเทรนด์ รักแฟชั่น ชอบการแต่งตัว ทว่ามีความสนใจต่อเทคโนโลยี ใหม่ๆ และไอเดียใหม่ๆ ในการรักษ์โลก คนกลุ่มนี้ไม่สนการรักษ์โลกแบบเดิมๆ แต่ชอบวิธีการใหม่ๆ ของใหม่ๆ แม้ราคาสูงขึ้นก็รับได้ ยอมจ่าย ยอมเสียตังค์ ถ้าได้นำเทรนด์ โดย สินค้าที่จะตอบสนองคนกลุ่มนี้ ต้องเป็นนวัตกรรมรักษ์โลกแบบใหม่ๆ ที่สำคัญอย่าแค่รักษ์โลก แต่ต้อง มีดีไซน์ มีศิลปะ สวยงาม และใช้งานง่ายด้วย
ยกตัวอย่าง Nike ที่ทำเสื้อกีฬารักษ์โลกแบบมีนวัตกรรม โดยเป็นผ้าที่ทำมาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติก มีนวัตกรรมช่วยให้เหงื่อแห้งไว ไม่มีกลิ่นตัว ใส่สบาย และไม่ร้อน
TOMS รองเท้าที่ขายไอเดีย ซื้อหนึ่งคู่ บริจาคให้เด็กยากไร้อีกหนึ่งคู่ ซึ่งเป็นการแสดงความรักษ์โลกแบบใหม่ ที่สำคัญยังตอบสนองผู้ใช้ได้ทั้งคุณภาพและดีไซน์ เหล่ากรีนฮิปสเตอร์ เลยอยากเป็นเจ้าของรองเท้าทอมส์
“Samsung Origami Printer” เทคโนโลยีพริ้นเตอร์ที่ทำจากกระดาษ
แผงโซล่าร์เซลแบบเหลี่ยมๆ แปะหลังคา ไม่ใช่ทางของเหล่ากรีนฮิปสเตอร์ สำหรับพวกเขาต้อง “Solar Leaf” แผงโซล่าร์ที่ดีไซน์เป็นลายใบไม้เท่านั้น ก็เมื่อใจรักษ์โลก ต้องไปพร้อม “ความงาม” และ “นำเทรนด์” ด้วย
หรือ “Andrea Plant Air Purifier” เครื่องฟอกอากาศมีต้นไม้อยู่ภายในสะท้อนไอเดียรักษ์โลกแบบเก๋ๆ กับ “Plant-integrated design” เฟอร์นิเจอร์ที่ปลูกต้นไม้ได้ ประเภทนั่งโซฟาเก๋ๆ ปลูกเห็ดปลูกผักไปกับเฟอร์นิเจอร์ได้ แพงแค่ไหนขอแค่ได้นำเทรนด์ สาวกกรีนฮิปสเตอร์ก็ยอมจ่ายได้อยู่แล้ว
“ของแบบนี้ กรีนฮิปสเตอร์ชอบ ถูกไหม ไม่ถูก แต่เขาใช้ไหม ใช้ เพราะนำเทรนด์ คนกลุ่มนี้ต้องการรักษ์โลก แต่ต้องเป็นแนวใหม่เท่านั้น”
และนี่คือ “คาแรคเตอร์” ของเหล่าคนรักษ์โลก ที่เขาย้ำว่า คนที่คิดจับตลาดนี้ ต้อง “โฟกัส” ลงไปให้ชัดว่า จะเจาะกลุ่มไหน ไม่ใช่หว่านไปหมด หรือหยิบมาอย่างละนิดละหน่อย เพราะสุดท้ายจะไม่ได้สักกลุ่ม การโฟกัสก็เพื่อจะได้เลือกวิธีการสื่อสาร การใช้กลยุทธ์ และช่องทางต่างๆ ที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ ส่วนกลยุทธ์พัฒนาสินค้ามาตอบสนอง เขาว่า ให้ดู 5 ด้าน ตามปัจจัยที่คนทั่วไปใช้ในการพิจารณาสินค้ารักษ์โลก
นั่นคือ ราคา, คุณภาพ, การหามาได้ง่าย, แปลกใหม่ น่าสนใจ และมีข้อมูลให้ทำความเข้าใจได้
“บ้านเราก็เป็นทิศทางเดียวกับต่างประเทศ อาจช้ากว่าเมืองนอกหน่อย แต่มาแน่นอนและจะมาเร็วขึ้นด้วย ผมเชื่อว่า ในเมืองไทยมีกลุ่มกรีนฮิปสเตอร์อยู่แล้ว รวมถึง 4 กลุ่มที่เหลือ และภาพนี้จะยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ”
ก่อนจะย้ำในตอนท้ายว่า
“กรีน ไม่ใช่แฟชั่น เพราะมันโตขึ้นเรื่อยๆ อย่าง พริ้นท์ ซิตี้ ธุรกิจการพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเจ้าเดียวในประเทศไทย เห็นเลยว่า ทุกวันนี้เขารับงานไม่หวาดไม่ไหว เพราะเจ้าอื่นไม่มี หรือผมทำเก้าอี้ตัวละ 7 หมื่น ทำไมถึงยังขายได้ แสดงว่า ซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์ จริงไหม ไม่ใช่ลูกค้าไม่มี แต่ไม่มีคนขาย ช่องทางจำหน่ายก็น้อย โอกาสเห็นอยู่ แล้วทำไมถึงไม่ทำ”
เมื่อ กรีนไม่ใช่กระแสที่มาแล้วก็ไป แต่อยู่ยั่งยืนในระยะยาว ฉะนั้นใครยังไม่ทำ ก็รอวัน “ตกเทรนด์” เท่านั้น!!
----------------------------------------
ไลฟ์สไตล์ “คนรักษ์โลก”
“อาภาพัณณ์ กุลพงษ์” ผู้จัดการมูลนิธิทิสโก้เพื่อการ กุศล วัย 35 ปี ผู้สนใจเรื่องกรีนมาตั้งแต่เริ่มทำงาน หลังรับรู้ข่าวการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) และปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เธอเกิดความคิดที่อยากปรับตัวเอง โดยเริ่มจากพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น เพื่อหวังช่วยลดผลกระทบที่มีต่อโลก
ตั้งแต่เลือกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก จากแบรนด์ที่มีระบบการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ผลิตง่ายๆ ไม่ได้มีขั้นตอนการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมมากมาย แต่ยังเน้นเรื่องความสะอาด ปลอดภัย เลือกซื้อสินค้าจากร้านที่ขายผลิตภัณฑ์กรีน อย่าง โกลเด้นเพลส เพราะเชื่อมั่นว่า ออร์แกนิกของแท้
สินค้าทั่วไปที่กลุ่มนี้ไม่ตอบสนอง ก็เริ่มพิจารณาไปที่บริษัทผู้ผลิต โดยเลือกดูว่า บริษัทเหล่านั้น มีชื่อเสียงด้านสิ่งแวดล้อมไหม ลึกไปจนถึง มีการใช้แรงงานเด็ก มีการคอรัปชั่น หรือไม่โปร่งใสไหม
“ไม่สนับสนุน และจะไม่ยอมรับความไม่ถูกต้อง”
เธอบอกถึงจุดยืน และยกตัวอย่างว่า เคยแบนผลิตภัณฑ์อาหารจากบริษัทหนึ่งไป หลังทราบข่าวว่า กรรมการของบริษัทมีการคอรัปชั่น เธอว่า เมื่อไม่โปร่งใส ก็ไม่ขอสนับสนุน ยอมไปหาอย่างอื่นที่ทดแทนกันได้ดีกว่า เพราะไม่ได้มีสินค้ายี่ห้อนั้นยี่ห้อเดียว และยุคนี้ผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้น
เธอบอกว่า ยอมที่จะจ่ายแพงกว่าในกับสินค้ารักษ์โลก เพราะรู้ดีว่าต้นทุนของพวกนี้จะสูงกว่าสินค้าทั่วไป อย่างกระดาษรีไซเคล ก็ย่อมแพงกว่ากระดาษปกติ แต่ก็ยินดีที่จะสนับสนุน
การเริ่มปรับตัวเองทั้ง เลือกสินค้าที่ดี ไปซื้อของ ไม่รับถุง ซื้อน้ำถ้าเอาแก้วไปเองได้ก็เอาไปเอง ลดการใช้พลาสติก ไม่เปลี่ยนมือถือบ่อย ไม่ตามเทรนด์ และไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีแพคเก็จมากๆ จากตัวเองก็เริ่มส่งผลไปสู่ครอบครัว เธอว่า ที่บ้านเริ่มมีขยะน้อยลง อาหารก็เปลี่ยนมาทานออร์แกนิก และทุกคนก็มีความสุข ขณะที่ตัวเธอก็ได้ “ความภูมิใจ” ตามไปด้วย
การสนใจดูแลสุขภาพ ชักนำให้ “อันติกา ทองอยู่” วัย 40 ปี ให้เข้าสู่วิถีกรีน หลังจากตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพในบ้านเราเติบโตขึ้น มีผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกออกสู่ตลาดมากขึ้น เธอเลยเริ่มทำอาหารทานเองโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ หลังจากเป็นคนซื้อ พอได้ไปเรียนรู้เรื่องการปลูกผักออร์แกนิก เลยปรับพื้นที่ในบ้าน ทำสวนผัก ผลไม้ ไว้ทานเอง ทั้งประหยัด และได้สุขภาพ
นอกจากมีสวนผักส่วนตัว อันติกา ยังเป็นนัก D.I.Y ตัวยง ใครจะคิดว่า เก้าอี้ โต๊ะ หมอน ชั้นวางของ กระเป๋าผ้า และของใช้หลายอย่างภายในบ้าน จะเป็นฝีมือของเธอทั้งนั้น
จากของที่เคยจัดการด้วยการ “ทิ้ง” เธอว่า ทุกวันนี้ ก่อนจะทิ้งอะไร ต้องมาคิดทบทวนทุกครั้งว่า พอจะไปรีไซเคิลเป็นอะไรได้บ้าง ทำให้ต่อยอดความคิดไปไกล และทำลายโลกน้อยลง แม้แต่เศษอาหาร ก็ยังเอามาเป็นปุ๋ยดูแลต้นไม้ในสวนน้อยๆ
“ทำของพวกนี้ ประหยัด ไม่ต้องใช้เงิน และลดการใช้ทรัพยากรลงได้ด้วย ที่สำคัญคือ ให้ความรู้สึกว่า เราทำได้ แม้จะเป็นผู้หญิง แต่ถ้ากล้าทำ ก็ไม่มีอะไรเกินความสามารถ และยังได้ภูมิใจกับสิ่งที่ทำด้วย”
อันติกาชอบใช้กระเป๋าผ้า เธอว่า ใส่สบาย จุของได้มาก และหากชำรุดยังซ่อมได้ ที่สำคัญผ้าย่อยสลายง่าย ไม่เหมือนวัสดุอย่างอื่น หลายคนเลือกกระเป๋าหนังสัตว์เพราะแข็งแรง และดูแพง เธอว่า ปฏิเสธทุกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ เพราะเชื่อว่า ถ้าจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข ก็ต้องเบียดเบียนให้น้อยที่สุด
ส่วนสินค้ากรีน เธอบอก รับได้ถ้าราคาจะสูงกว่าปกติ เพราะเข้าใจในความยากและต้นทุนที่สูงของผลิตภัณฑ์เหล่านี้
โลกของคนกรีนไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว อันติกา เล่าว่า หลังได้รู้จักกับ “พภัสสรณ์ จิรวราพันธ์” คน คอเดียวกันเลยถูกชักชวนให้เข้ากลุ่มคนรักษ์โลก ซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 10 คน จากหลากหลายอาชีพ พวกเขารวมตัวกันเพื่อมาทำกิจกรรม อย่าง ทำอาหารเพื่อสุขภาพ ปลูกผัก หมักดิน ทำปุ๋ย และทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติใช้เอง โดยติดต่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันผ่านทางกลุ่มในเฟซบุ๊ก ช่องทางติดต่อกลุ่มคนรักษ์โลก
“สุภิญญา ช่วยสงเคราะห์” เลขาหน้าหวาน วัย 34 ปี ผู้รักธรรมชาติและชอบการเดินทางท่องเที่ยว เธอตื่นตัวกับเรื่องสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน และสัมผัสได้ถึงสัญญาณผิดปกติของธรรมชาติ อย่างการที่ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรืออากาศที่หนาวนานกว่าปกติ
ความใส่ใจในธรรมชาติและการรักสุขภาพ ทำให้เธอหันมาปรับเปลี่ยนตัวเอง ตั้งแต่ การทานอาหารที่ไม่ปรุง ทานผักสดผักปลอดสาร เลือกใช้ไขมันที่ดี เธอชอบใช้กระเป๋าผ้า ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ไม่ใช้ภาชนะที่เป็นพลาสติก ไม่เลือกของที่สร้างมลพิษ ร้านไหนขายอาหารใส่ใบตอง จะยิ่งปลื้มเอามากๆ
“โดยส่วนตัวเป็นคนชอบเที่ยวต่างจังหวัด ชอบเดินป่า อยู่กับธรรมชาติ เลยเห็นว่า หลายคนที่ไปเที่ยว มักเอาขยะไปทิ้งไว้กับป่าด้วย บางคนบอกว่า ก็แค่ทิ้งขยะ แค่ไม่รักษาสิ่งแวดล้อม แต่มองว่า อย่างการฆ่าคนตาย ต่อให้เราเอามีดไปกรีด หรือไปยิงเขา ก็ตายเหมือนกัน ฉะนั้นจะทำมากทำน้อยก็ถือว่า ทำลาย ถ้าไม่ทำได้ก็เป็นเรื่องดีมาก” เธอบอก
เมื่อเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ ก็มาเปลี่ยนการท่องเที่ยวของตัวเอง อย่าง ทุกครั้งที่แบกเป้ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ก็เริ่มชักชวนกันไปเก็บขยะ ไม่ต้องมากมาย เอาแค่ทางที่เดินผ่านนี่แหล่ะ เจออะไรก็เก็บไปทิ้ง คืนความสวยให้ธรรมชาติ
การเข้าสู่วิถีกรีน เธอว่า ทำให้ชีวิตดีขึ้น ประหยัดขึ้น และไม่ต้องเหนื่อยที่จะไปพยายามหาของมาใช้เหมือนแต่ก่อน หลายคนอาจโอเคกับผลิตภัณฑ์กรีนที่มีราคาสูง แต่เธอว่า ขอเลือกราคาที่สมเหตุสมผล และอยู่ในระดับที่รับได้ คือ ไม่สูงเกินไป ที่สำคัญต้องดีต่อสุขภาพจริงๆ ด้วย
“วันนี้บ้านเรามีสินค้ากรีนเยอะมาก บางอย่าง เลยดูกรีนไม่จริง แต่เป็นเรื่องการตลาดมากกว่า แต่ก็ดีตรงที่ผู้บริโภคยุคนี้มีทางเลือกมากขึ้น เขาเลือกได้ว่าจะสนับสนุนคนไหน ขณะที่คนที่ชอบแนวนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่าง เริ่มเห็นเพื่อนๆ มาปลูกผักออร์แกนิกกัน และเริ่มทำขาย เพราะตลาดมีรองรับมากขึ้น” เธอบอก
ปิดท้ายกับ “สรีรัตน์ สุกมลสันต์” เอ็นจีโอสายเยาวชน วัย 38 ปี เธอชอบข้าวอินทรีย์ ผลผลิตของท้องถิ่น กินอาหารตามฤดูกาล และใส่เสื้อผ้าที่ย้อมสีธรรมชาติ ขณะข้าวของในชีวิตประจำวันถ้าเลือกได้ก็จะเลือกซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง
การพิจารณาเลือกสินค้าหรือบริการรักษ์โลก เธอว่า จะเน้นที่ต้นทางการผลิต โดยดูว่าสินค้าหรือบริการนั้นทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยเธอจะศึกษาข้อมูลเพื่อให้รู้ถึงที่มา ของสิ่งที่กิน สิ่งที่สวมใส่ เธอสนับสนุน อาหารพื้นบ้าน และอะไรที่มีในชุมชน เลือกร้านค้าชุมชน ทานอาหารท้องถิ่น และชอบสิ่งที่เป็นภูมิปัญญา
ส่วนการใช้จ่ายกับสินค้ากรีนในแต่ละเดือน เธอบอกว่า จ่ายเงินไปกับสินค้ากรีนประมาณเดือนละ 2-3,000 บาท โดยเน้นของที่ใช้ในการในการดำรงชีวิตเป็นหลัก
แม้จะยกมือว่าเป็นพลเมืองคนรักษ์โลกเต็มตัว แต่เธอรับว่า ราคามีผลกับการตัดสินใจซื้อสินค้ากรีน โดยมองว่า ต้องอยู่ในระดับราคาที่ซื้อหาได้ด้วย เพราะของบางชิ้น แม้เป็นของดี มีคุณค่า แต่ถ้ากำลังจ่ายไม่ถึง ก็ซื้อไม่ได้
“ตอนนี้สินค้าพวกนี้ค่อนข้างเยอะนะ บางทีบางคนทำนิดเดียวแต่เคลมว่า รักษ์โลก บางรายเป็นการใช้โอกาส ทำกรีนโพรดักส์ ใช้กระแสกรีน มาขายสินค้า ขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมาก ก็ไม่เข้าใจเรื่องกรีนจริงๆ คิดว่าแค่เคลมว่า กรีน ก็ช่วยโลกได้แล้ว ซึ่งสินค้าแบบนี้มีเยอะมาก” เธอฝากทิ้งท้ายเพื่อให้คนกรีน หรืออยากอยู่ในเส้นทางนี้ เข้าใจและรู้ทันสินค้ารักษ์โลกมากขึ้น
ตัวอย่าง พลเมืองรักษ์โลก ตลาดหอมหวานของผลิตภัณฑ์สีเขียววันนี้
Cr : จีราวัฒน์ คงแก้ว / bangkokbiznews
เว็บไซต์เกี่ยวข้อง : โคมไฟโซล่าเซลล์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น