วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558
5 ข้อคิด จากการที่ผมใกล้ชิดคนรวย
คนรวยเขามองเรื่องนี้ยังไงนะ?
คนรวยนี่ เขาขี้โกงแบบนี้กันทุกคนหรือเปล่า?
คนรวยเขามองเห็นหัวคนจนอย่างพวกเราบ้างไหมหนอ?
อาจเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสถามจากปากของเขาเหล่านั้นตรงๆ การได้เข้าใจความคิดของผู้มีฐานะทางสังคมเหล่านี้ เราจึงทำได้แค่อ่านตามหนังสือที่วางขายอยู่ ซึ่งครั้นจะไปไล่อ่านให้หมดทุกคน มันก็ดูจะเสียเวลาไปซักหน่อย วันนี้ผมเลยขออาสากลั่นความคิดของคนรวย จากที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในฐานะของที่ปรึกษาการลงทุนกลุ่มลูกค้าธนบดี มาร่วมๆ 10 ปี แชร์ด้านดีๆที่เราน่าจะสามารถเอาไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้นะครับ
1. เขารู้ว่าตัวเองถนัดอะไร
เพราะคนส่วนใหญ่ตามหาไปเท่าไหร่ ก็หาไม่เจอว่าชีวิตตัวเองต้องการอะไร ทำให้ไม่สามารถเลือกทางเดินชีวิตได้เอง ต่างจากนักลงทุนที่ผมดูแลเงินของเขา ซึ่งพบจุดร่วมที่สำคัญคือ เขาเอาเงินมาให้เราดูแล ก็เพราะเขารู้ว่าเขาถนัดอะไร และเราถนัดอะไร เขาจะใช้เวลาให้มากกับสิ่งที่เขารักและถนัด ในขณะที่สิ่งที่เขาไม่ถนัด แต่คิดว่าจำเป็น เขาก็ให้คนที่ไว้ใจ เชื่อในความสามารถเป็นคนดูให้แทน
ปัญหาคือ กระบวนการค้นหาสิ่งที่ตัวเองถนัดของคนรวยแต่ละคนนั้น ค่อนข้างแตกต่างกันครับ ไม่มีกฎตายตัว บางก็ก็จับพลัดจับพลูได้ทำธุรกิจที่ไม่เคยทำ แล้วกลับหลงรักมันขึ้นมา ในขณะที่บางคน รักที่จะค้นหาสิ่งใหม่ๆทำไปเรื่อยๆ ถึงผิดบ้าง ขาดทุนบ้าง ก็ไม่ท้อแท้อะไร โดยคิดว่าประสบการณ์ที่ได้ไป ยังไงก็ไม่สูญเปล่า ซึ่งมันก็จริง ย้อนกลับมาดูตัวเราครับ ถ้าวันนี้เรายังไม่เจอสิ่งที่ตัวเองถนัด เราทำให้ตัวเองเข้าใกล้คำๆนี้มากขึ้นด้วยวิธีไหน? น่าคิดนะ
2. เขาอ่านเยอะมากกกกก
มนุษย์เงินเดือน อาจจะวัดความสำเร็จของตัวเองด้วยขนาดของทีวีที่บ้าน แต่สำหรับคนรวย ผมเห็นบ้านเขามีห้องหนังสือใหญ่ๆหนึ่งห้องเลย บางคนอาจบอกว่า จะมีเวลาอ่านได้ยังไง เวลาส่วนใหญ่ก็น่าจะยุ่งมากอยู่แล้ว แต่จากที่ได้พูดคุยได้สนทนากันทั้งในเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ และการลงทุนต่างๆ รวมถึงความเป็นไปรอบตัว
ผมกลับพบว่า มันไม่ใช่การไปอัพเดทข่าวสาร แต่เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันมากกว่า เลยทำให้ผมมั่นใจว่า เขาต้องอ่าน และหาทางเสพข่าว รวมถึงเติมความรู้ให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลาแน่นอน แล้วเราละ นอกจากเปิดอ่านชีวิตและความเป็นไปของเพื่อนๆใน Facebook ติดตามข่าวดราม่าดาราแบบวินาทีต่อวินาที เราเพิ่มเติมความรู้ยังไงครับ?
3. เขาฟังเยอะ พูดน้อย
นอกจากเรื่องอ่านเยอะแล้ว สิ่งที่ผมได้จากคนรวยอีกเรื่องก็คือ เกือบทุกคนเลือกที่จะฟังก่อนที่จะพูด สิ่งนี้เป็นเหตุเป็นผลนะครับ เมื่อฟังก่อน ก็จะได้ข้อมูลใหม่ๆ ได้ใช้ความคิดให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจอะไรไป มันอาจจะขัดกับสิ่งที่เด็กสมัยนี้คิด นั้นก็คือ ต้องกล้าแสดงออก ต้องกล้าแสดงความคิดเห็น
แต่กลายเป็นว่า คนรวยส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นบ่อยนัก จริงๆ มันไม่ขัดกันนะครับ เพราะเขาอยู่ในระดับที่ต้องเก็บข้อมูลและตัดสินใจในสิ่งสำคัญๆ แต่สำหรับเหล่าพนักงานนั้น การโยนความคิดเห็นเข้าไปกลางวงประชุม คือการแสดงความเห็นให้คนอื่นๆทราบ ทำให้เรามีตัวตนในองค์กร อย่าลืมนะครับ สมัยนี้ เก่งแล้วต้องให้คนอื่นรู้ เก่งเงียบๆ นายเค้าไม่เห็นหรอก
4. เขาลำบากมากกว่าที่เราเห็น และล้มเหลวมาเยอะกว่าที่เราคิด
ฉากหน้าของความสำเร็จมักจะดูดีเสมอ สิ่งที่ผมเห็นคือ บ้านหลังใหญ่ๆ รถสปอร์ต 5-6 คัน ไปเที่ยวต่างประเทศปีละ 3-4 ครั้ง สิ่งเหล่านั้นคือผลลัพธ์จากการทำงานอย่างหนัก ผมไม่เคยเจอคนรวยที่ไม่ลำบาก และทุกๆคนล้วนเคยประหยัด ขยันขันแข็ง เก็บหอมรอมริบมาเรื่อยจนมีวันนี้ บางคนอดทนเป็นลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี กว่าจะมีเงินเก็บออกมาตั้งกิจการของตัวเอง คนเหล่านี้ ถึงเริ่มช้า แต่ทว่า ก็ด้วยความมั่นคง เพราะรู้ลึกรู้จริงในธุรกิจซึ่งตัวเองเคยเจอมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว
ในขณะที่บางคน ล้มเหลวมาแล้ว 3-4 ครั้ง ทั้งที่เพื่อนโกง โดนชักดาบ ขายของไม่ได้เพราะเศรษฐกิจพัง แต่เขาก็ยังลุกขึ้นมาหาอะไรทำ เพราะจำเป็นต้องเลี้ยงครอบครัว เรียกได้ว่า เพราะหลังชนฝานั้นเองและที่เขาใช้เงินได้เยอะในวันนี้ มันก็เป็นเหตุผลครับ สมมติว่า เขามีเงินในกองทุนรวมตราสารหนี้ซัก 200 ล้านบาท ผลตอบแทนปีละ 3% ก็เท่ากับได้มาใช้ 6 ล้านบาท หรือใช้ได้เดือนละ 5 แสน เงิน 5 แสนอาจจะดูมากสำหรับเรา แต่มันคือเงินน้อยสำหรับเขา เพราะใช้ไปยังไงเงินต้นเขาก็ยังไม่ได้ลดลง และยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลา มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง (แต่กว่าจะได้ 200 ล้านเนี่ย ลากเลือดครับ)
5. เขามีวิธีคิดที่เหมือนกันในการต่อต้านความจน ก็คือ การสร้างสินทรัพย์
เราถูกสอนว่าควรประหยัด เพราะเงิน 1 บาที่เราไม่ใช่ มันเท่ากับรายได้ 1 บาท ที่เราหาได้ แต่การประหยัดนั้น มันไม่ทำให้เราใช้ประโยชน์จากอาวุธที่มีอนุภาพมากที่สุดในโลก นั้นก็คือ “ดอกเบี้ยทบต้น” เขาเหล่านี้รู้สูตรลับความสำเร็จจะด้วยความบังเอิญ หรือรุ้จริงๆตั้งแต่วันที่ตั้งใจก็ตาม แต่เขาจะพยายามอดออม และแบ่งเงินเหล่านั้นออกมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกิจการที่ตนเชื่อว่าจะไปได้ดี หรือไปลงทุนในที่ๆคิดว่าให้ผลตอบแทนสูง (เลยเป็นที่มาที่เขาเดินเข้ามาหาที่ปรึกษาการลงทุน)
เหตุผลนี้ มันเลยชัดเจนครับว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอตัวใน 1-2 ปีข้างหน้า เพราะเศรษฐีทั้งหลายมองไม่เห็นช่องทางการลงทุนในธุรกิจและหันเอาเงินมาให้ เหล่านักการเงินทั้งหลายบริหาร จัดพอร์ตไปลงทุนในที่ต่างๆในระยะหลัง
แต่ไม่ว่าเขาจะเลือกทางไหน หรือในอนาคตเขาจะเอาเงินกลับไปลงทุน วัตถุประสงค์ของเขาก็คือ การสร้างสินทรัพย์เพื่อต่อยอดเงินให้กับลูกหลานต่อไปในอนาคต
คนเรามีทั้งด้านดีและไม่ดี ด้านที่ดีของเขา เราก็ปรับเอามาใช้กับตัวเองนะครับ ความสำเร็จมันไม่มีรูปแบบตายตัว ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันก็พอมีลายแทงให้เดินตาม ผมเชื่อว่า เมื่อเราพยายามสู้กับทุกปัญหา มองโลกในแง่ดี และหาโอกาสในรอบๆตัวให้เจอ ไม่ต้องรวยมากหรอกครับ ความสุขมันก็โชยขึ้นมาเบาๆแล้ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น